เรือนแพลาดชะโด

http://ruenpae.siam2web.com/
 

 


 

 

ทางเข้า"เทศบาลซอย 2" ตรงข้าม"ลาดชะโดเมืองใหม่"

ระยะทาง 650 เมตร

พิกัด GPS 14.460460, 100.325560

https://goo.gl/maps/fjHYK263kReQjMTv5

 

 

*********

สายชีวิตและวัฒนธรรมคนริมน้ำ (ชุมชนลาดชะโด) คลิก

คณะผู้วิจัย

ผศ.จารุวรรณ ขำเพชร และคณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


การจัดการเชิงอนุรักษ์ตลาดลาดชะโด คลิก

ภาพลักษณ์ชุมชนลาดชะโด คลิก

*********


 ชุมชนลาดชะโด

ข้อมูลทั่วไป

              พื้นที่ลาดชะโดแบ่งเป็น 2 ตำบล  โดยแบ่งพื้นที่ยึดลำคลองลาดชะโดที่รับน้ำจากแม่น้ำน้อยเป็นเกณฑ์  คือ  ตำบลหนองน้ำใหญ่  มี 11 หมู่บ้าน  อยู่ทางด้านทิศเหนือของคลองลาดชะโด  และ  ตำบลจักราช  มี 6 หมู่บ้าน  อยู่ทางด้านทิศใต้ของคลองลาดชะโด  

        ลาดชะโด  มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดริมน้ำ   และแต่เดิมพื้นที่นี้คูคลองที่มีอยู่จะอุดมไปด้วยสัตว์น้ำจืดและปลาชนิดต่างๆ มากมาย  โดยเฉพาะปลาชะโดมีชุกชุมเป็นจำนวนมาก  จึงได้ตั้งชื่อว่า  “ ลาดชะโด ”

        ในเวลาหน้าน้ำหลาก (ประมาณช่วงเดือน สิงหาคม-ธันวาคม)  น้ำก็จะท่วมพื้นที่ดินโดยทั่วไปทั้งหมด  ในอดีตการคมนาคมจะใช้เรือพายเป็นพาหนะ  แต่ปัจจุบันมีถนน และ สะพาน ค.ส.ล. เดินเท้า  เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อถึงกันทุกหมู่บ้าน  จึงทำให้เรือหมดความจำเป็นในการเดินทางต่อบุคคลทั่วไป

        ชุมชนลาดชะโด  ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น  ประเภท ชุมชนพื้นถิ่น ประจำปี 2549  คัดเลือกโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

        ลาดชะโด  อยู่ห่างจากอำเภอผักไห่ประมาณ 6 กิโลเมตร  และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 42 กิโลเมตร  โดยมีพื้นที่ประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร  จำนวน 2,200 กว่าครัวเรือน  ประชากร 8,000 กว่าคน  ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  ทำนาเป็นหลัก  อาชีพรองรับจ้างทั่วไป  นอกจากนั้นแรงงานในวัยหนุ่มสาวจะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม  ส่วนอาชีพเสริม  ค้าขาย  ทำพวงหรีดผ้า  และการประมงพื้นบ้าน

        ลาดชะโด  เป็นสถานที่ที่ภาพยนตร์ไทย  และ  ละครทีวีมาถ่ายทำกันหลายเรื่อง  เช่นเรื่อง  บุญชู 7”  บุญชู 8”  รักข้ามคลอง  บุญชู สระอูยาว  สตางค์  ชื่อชอบชวนหาเรื่อง  ดงดอกเหมย  ความสุขของกะทิ”  "คาดเชือก"  เป็นต้น

        ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย  เมื่อ พ.ศ. 2501 ได้เคยมาร่วมงานบวชนาคของผู้ที่เคยทำงานในบ้านท่าน  และต่อมาก็ยังได้ล่องเรือยนต์สองชั้นพร้อมคณะบริวาร  จากกรุงเทพฯ มาเที่ยวพักผ่อนส่วนตัวอีกครั้งที่ลาดชะโด 

        ลาดชะโด  ยังเป็นบ้านเกิดของศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลง  ในยุค 70's (ปี 1970-1979)  คือ  คุณธีระศักดิ์  อัจจิมานนท์ (ตือ กงล้อ)  ผู้ขับร้องเพลง กุหลาบสีแดง และ ลมลวง  ที่เคยโด่งดังและได้รับความนิยมมากในอดีต

สถานที่ท่องเที่ยว

♦ ตลาดลาดชะโด  เป็นตลาดไม้ที่ก่อตั้งมานับ 100 ปี

♦ พิพิธภัณฑ์ประมง-ชาวนาพื้นบ้านลาดชะโด

♦ นิทรรศการภาพเก่าเล่าอดีต-ชมปลาในท้องถิ่น

♦ สักการะศาลเจ้า “ปึงเถ่ากงม่า” ลาดชะโด

♦ ศาลาการเปรียญวัดลาดชะโด ที่เสาทำจากซุงต้นใหญ่

♦ นมัสการรูปหล่อหลวงพ่ออุปัชฌาย์อิ่ม

♦ อาคารไม้โรงเรียนวัดลาดชะโด รูปตัว E ที่ยาวที่สุดใน     ประเทศไทย

♦ วังปลาหน้าโรงเรียนวัดลาดชะโด

♦ นั่งเรือชมธรรมชาติ/บ้านทรงไทยริมน้ำ/วิถีชีวิตริมคลอง

♦ สะพาน ค.ส.ล. เดินเท้า รวมระยะทางมากกว่า 12 กม. เป็นเส้นทางคมนาคมในชุมชน

สถานที่สำคัญ

♦ สำนักงานเทศบาลตำบลลาดชะโด

♦ สวนสุขภาพ เฉลิมพระเกียรติ ร.๙

♦ วัดลาดชะโด (วัดดุสิตราชมัจฉา)

♦ วัดจักราช (วัดลาดประทุมทอง)

♦ ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่าลาดชะโด

♦ ศาลเจ้าพ่อแก่-พ่อศรีไพร

♦ โรงเรียนวัดลาดชะโด (ประกาศวิทยาคาร)

♦ โรงเรียนลาดชะโดสามัคคี

♦ สถานีตำรวจภูธรจักราช 

♦ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองน้ำใหญ่

♦ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจักราช

♦ ที่ทำการไปรษณีย์ลาดชะโด

ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ

♦ ผลิตภัณฑ์จากปลา  เช่น  ปลาช่อนเค็มตากแห้ง  และปลาย่าง  เป็นต้น

  

ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลิก


*******************************

ประวัติ

   

ตลาดลาดชะโด

       ตลาดลาดชะโดก่อตั้งมาเป็นเวลานับ 100 ปี  โดยพัฒนามาจากตลาดน้ำ  ที่ชุมชนชาวจีนได้มาสร้างเรือนแพทรงไทย  ค้าขายเรียงรายอยู่สองฝั่งคลอง  คนในท้องถิ่นทั้งชุมชนใกล้เคียง  ก็จะพายเรือออกมาจับจ่ายสินค้ากัน  ต่อมาได้ใช้พื้นที่ริมน้ำ ณ ปัจจุบัน  ซึ่งเป็นของวัดลาดชะโดสร้างเป็นตลาดไม้  ยกพื้นสูงพ้นน้ำทำการค้าขาย  แล้วได้ค่อยๆ ขยายตัวและพัฒนาตามลำดับ  จนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนนับร้อยคูหา

       ในอดีตตลาดลาดชะโด  มีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก  เป็นศูนย์กลางการค้าขายของทางน้ำ  คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาทำการค้าขายระหว่างกัน  ในตลาดนอกจากร้านค้าที่จำนวนสรรพสินค้ามากมายแล้ว  ยังมีร้านของทอง  ร้านขายยาจีน  ร้านถ่ายรูป  โรงหนัง-ละคร  โรงสีข้าว  เป็นต้น

         เมื่อปี  พ.ศ. 2517  การคมนาคมทางบกเริ่มขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น  ในปี พ.ศ. 2527  มีถนนเชื่อมจากทางหลักเข้าถึงตลาดลาดชะโด  ทำให้การเดินทางทางน้ำเงียบเหงาลง  จึงส่งผลกระทบต่อชาวตลาดลาดชะโด  การค้าขายเริ่มซบเซาลง  เนื่องจากการคมนาคมสะดวก  ทำให้ผู้คนสามารถเข้าตัวเมืองจับจ่ายสินค้าได้ง่ายขึ้น  ประกอบกับรุ่นบุตรหลานของชาวลาดชะโด  ส่วนมากจะไม่ได้สืบทอดการค้าจากบรรพบุรุษ  โดยมุ่งที่จะเข้าเมืองเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  ภายหลังหลายครอบครัวได้อพยพจากลาดชะโด  เข้าสู่เมืองเพื่อไปอยู่กับบุตรหลาน  ดังนั้น  ร้านค้าในตลาดจึงเริ่มปิดตัวลงโดยปริยายแล้วปรับเป็นห้องพักอาศัย  ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงร้านค้าดั่งเดิมอยู่บางส่วนเท่านั้นที่ยังคงปักหลักอยู่อย่างเหนียวแน่น 

         จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552  นายกฯเกรียงศักดิ์  พิมพันธ์ดี  นายกเทศมนตรีตำบลลาดชะโด  บุคคลทุกฝ่ายในพื้นที่  นายอำเภอผักไห่ (นายเรวัต  ประสงค์)  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (นายปรีชา  กมลบุตร)  ได้ร่วมกันจัดงานเปิดตัวตลาดลาดชะโด  เมื่อวันที่  7-9  กุมภาพันธ์  2552  จึงทำให้ตลาดลาดชะโดมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง  ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์  ให้ตลาดลาดชะโดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  เปิดวันเสาร์-อาทิตย์  และวันหยุดนักขัตฤกษ์  เวลา 09.00 - 16.00 น.

  

ชุมชนลาดชะโด  

         ชุมชนลาดชะโด  เป็นชุมชนที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2310  ช่วงปลายของราชธานีอยุธยา  ชาวบ้านที่หลบหนีสงครามจากในกรุงต่างแยกย้ายออกสู่พื้นที่ชนบทที่ปลอดภัยกว่า

         ชาวบ้านลาดชะโด  แต่เดิมคงมีการปะปนกันหลายเชื้อชาติ  ที่มีมากคงจะเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ  คือ  ในอดีตมีเสาหงส์ปรากฏอยู่ที่หน้าวัดลาดชะโด  ซึ่งเสาหงส์นี้จะมีปรากฏเฉพาะวัดไทยเชื้อสายรามัญเท่านั้น

         ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า  ครั้งหนึ่งบริเวณนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จผ่าน  หลังจากเสร็จศึกยุทธหัตถีที่ อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี  และได้นำช้างอาบน้ำกินไหลบัวในบริเวณนี้  แล้วจึงเสด็จไปทางบ้านตาลาน  อำเภอผักไห่  กลับกรุงศรีอยุธยา

         มีเรื่องปรากฏตามประวัติศาสตร์ไทยรบกับพม่าครั้งที่ 24  พระยาเสนารับอาสาไปรบกับพม่า  ที่มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพรบกันที่บ้านจักราช  ตำบลจักราช  อำเภอเสนาใหญ่ในขณะนั้น  และได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอผักไห่ในปัจจุบัน  พม่าพ่ายแพ้หนีกลับไป  เส้นทางนี้ยังเป็นทางเดินทัพของพม่าที่มาจากจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย

         เรื่องนี้มีปรากฏในการเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า  เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2451  สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน  ที่วัดจระเข้ใหญ่  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้เสด็จผ่านคลองหน้าวัดลาดชะโด  เพื่อจะเสด็จไปยังวัดตึกคชหิรัญ  อำเภอผักไห่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้ทรงปรารภว่าคลองลาดชะโดผักตบชวาแน่นเหลือเกิน  พระยาโบราณราชธานินทร์ซึ่งกำหนดว่าจะไปรับถึงสุพรรณบุรีก็ไปไม่ได้  เหตุด้วยมีผักตบชวากระจายเต็มคลอง  ต้องเสียเวลาแก้ไขกันอยู่จนวันนี้ยังไม่หมด

  

เทศบาลตำบลลาดชะโด

         เทศบาลตำบลลาดชะโด  เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลลาดชะโด  ก่อตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514  ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงจากสุขาภิบาล  เป็นเทศบาลตำบลลาดชะโด  โดยมีผลบังคับตั้งแต่  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

  

คลองลาดชะโด

         คลองลาดชะโด (คลองบางคลี่)  ชื่อเป็นทางการตามระบบชลประทานว่า  คลองระบาย 2 ขวา สุพรรณ 4  เป็นลำคลองธรรมชาติ  รับน้ำจากแม่น้ำน้อย  อำเภอผักไห่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สู่แม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณ)  ที่อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีความยาว 25 กิโลเมตร  ช่วงที่ผ่านบ้านลาดชะโด  เรียกคลองลาดชะโด

            เมื่อ พ.ศ. 2470 พระยารักษ์  ได้สั่งให้ทำการขุดลอกเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ  ใช้เพื่อการเกษตร  และการประมงพื้นบ้าน

            แม่น้ำน้อย  เป็นแม่น้ำสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่อำเภอเมือง  จังหวัดชัยนาท  ไหลผ่านจังหวัดสิงห์บุรี  จังหวัดอ่างทอง  แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีความยาวประมาณ 155 กิโลเมตร

  

ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่าลาดชะโด

         เมื่อปี พ.ศ. 2480  ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ลาดชะโด  ในท้องที่ตำบลหนองน้ำใหญ่  บ้านเรือนราษฎรถูกเพลิงไหม้หมดไปครึ่งตำบล  ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นลาดชะโด  จึงได้เชิญซิงแซมาดูฮวงจุ้ยให้  ซิงแซได้บอกว่าคลองขุดที่ตัดตรงจากลาดชะโดไปออกแม่น้ำน้อย  บริเวณหน้าวัดชีโพน  อำเภอผักไห่  ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรนั้น  คล้ายเป็นปล่องไฟตรงมาหมู่บ้านลาดชะโด  วิธีที่จะแก้ไขก็คือ  สร้างศาลเจ้าไว้ที่ปากคลองลาดชะโด  ผู้อาวุโสในรุ่นนั้นจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าขึ้นที่ปากคลองลาดชะโด  และได้อัญเชิญผงธูป (เฮียฮุ่ง) มาจากศาลเจ้าพ่อฯ สุพรรณบุรี  ตั้งแต่นั้นมา  ก็ไม่เคยเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ลาดชะโดอีกเลย

         ศาลเจ้าลาดชะโดมี "ปึงเถ่ากงม่า" เป็นที่ศรัทธาของชาวจีนในพื้นที่  มีความศักดิ์สิทธิ์  ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ลูกหลานมั่งมีศรีสุข  เจริญรุ่งเรือง  ประชาชนในท้องถิ่นอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา

         "ปึงเถ่ากงม่า ลาดชะโด"  จัดงานปีละ 3 ครั้ง  ครั้งที่หนึ่งวันไหว้พระจันทร์  ครั้งที่สองวันง่วนเซียว (หลังวันตรุษจีน 15 วัน)  ครั้งที่สามงานงิ้วประจำปี  ของไหว้  "ปึงเถ่ากงม่า ลาดชะโด"  หมู  เป็ด  ไก่  ผลไม้

 

ภาพยนตร์และละครทีวี

ที่มีส่วนมาถ่ายทำที่ลาดชะโด

♣ ภาพยนตร์ ไฟว์สตาร์ เรื่อง "บุญชู 7" รักเธอคนเดียว พ.ศ. 2536

♣ ภาพยนตร์ ไฟว์สตาร์ เรื่อง "บุญชู 8" เพื่อเธอ พ.ศ. 2538

♣ ละครทีวี ช่อง 3 เรื่อง "รักข้ามคลอง" พ.ศ. 2539

♣ ภาพยนตร์ ไฟว์สตาร์ เรื่อง "สตางค์" พ.ศ. 2543

♣ ภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม เรื่อง "ชื่อชอบชวนหาเรื่อง" พ.ศ. 2546

♣ ละครทีวี ช่อง 3 เรื่อง "ดงดอกเหมย" พ.ศ. 2546

♣ ภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม เรื่อง "ความสุขของกะทิ" พ.ศ. 2552

♣ ละครทีวี ช่อง 7 เรื่อง "คาดเชือก" พ.ศ. 2558

♣ ละครทีวี ช่อง PPTV 36 เรื่อง "มนต์รักสองฝั่งคลอง" พ.ศ. 2559

♣ ละครทีวี ช่อง 3 เรื่อง "ตะวันยอแสง" พ.ศ. 2559

♣ ละครทีวี ช่อง ONE 31 เรื่อง "สายรัก สายสวาท" พ.ศ. 2561

♣ ละครทีวี ช่อง 3 "ซีรี่ส์ลูกผู้ชาย" พ.ศ. 2561

♣ ละครทีวี ช่อง GMM 25 เรื่อง "ปลาร้าทรงเครื่อง" พ.ศ. 2562

  

วัดลาดชะโด

        วัดลาดชะโด (วัดดุสิตราชมัจฉา)  มีหลวงพ่อโตเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน เป็นวัดราษฎร์  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ  พุทธศักราช 2330  มีพื้นที่ตั้งวัดประมาณ 50 ไร่

  

ศาลาการเปรียญวัดลาดชะโด

         ศาลาการเปรียญวัดลาดชะโด  สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456  ขนาดความยาว 10 ห้อง  เสาทำจากซุงไม้ตะเคียนทั้งต้น  ส่วนพื้นทำจากไม้สักทองทั้งหลัง

  

รูปหล่อหลวงพ่ออุปัชฌาย์อิ่ม

         หลวงพ่ออุปัชฌาย์ อิ่ม ธมฺมสาโร (อิ่ม ผาสุกถ้อย)  อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดชะโดองค์ที่ 13  เป็นพระผู้ทรงบารมีเป็นที่เคารพสักการะ  ของผู้คนในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ

         หลวงพ่ออุปัชฌาย์ อิ่ม  เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2413  บิดาชื่อนายดิษฐ์  มารดาชื่อนางหนู  มีพี่น้องร่วมท้อง 5 คน  คือ  1.นางหรุ่น  2.นางทิม  3.พระอุปัชฌาย์อิ่ม  4.นายหลำ  5.หรุ่ม

         หลวงพ่ออุปัชฌาย์อิ่ม  ได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก  และได้อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสะแก  อำเภออุทัย  จังหวัดอยุธยา  โดยหลวงพ่อหร่าย  วัดสะแกเป็นอุปัชฌาย์แล้วได้มาอยู่ที่วัดลาดชะโด  ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชพระเณรแถวนี้ทั้งหมด  ตั้งแต่ลาดชะโด  ดอนลาน  นาคู  ลำตะเคียน  ลานช้าง  ลาดตาล

         ในสมัยยุคนี้ถือว่าวัดลาดชะโดรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก  บางปีมีพระจำพรรษาถึงร้อยกว่ารูปก็มี  ท่านชอบทำยาแผนโบราณแจก  เช่น  ยาเขียว  ยาเหลือง  ยาดำ  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายถึงกรุงเทพฯ  เจ้านายผู้ใหญ่  เช่น  หม่อมเจ้าคำรพ  ทรงนับถือท่านนักโดยเฉพาะพวกบ้านแป้ง  บ้านขนมจีน  อำเภอเสนานับถือท่านมาก  ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันก็เกิดในสมัยท่าน  มรณภาพในปีพุทธศักราช 2490  สิริอายุได้ 77 ปี  57 พรรษา

 

วัดจักราช

         วัดจักราช (วัดลาดประทุมทอง)  มีหลวงพ่อแสนสุขเจริญชัยที่ชาวบ้านเลื่อมใส  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500

  

ศาลเจ้าพ่อแก่-พ่อศรีไพร

            ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี  จะเป็นวันทำบุญประจำปี  มีพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อแก่-พ่อศรีไพร  ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดของบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน  ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา  จะนำเครื่องขยาบวชไปเซ่นไหว้   ประกอบด้วย  ขนมต้มแดง  ขนมต้มขาว  กล้วยหวีงาม  ขนมกง  ไข่ยอดบายสี  หมูนอนตอง  เหล้า  น้ำ  หมาก  พลู  เป็นต้น

 

โรงเรียนวัดลาดชะโด

         โรงเรียนวัดลาดชะโด  (ประกาศวิทยาคาร)  เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา  สร้างขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2503  แบบ 018 พิเศษ  กรมสามัญศึกษา  เป็นอาคารเรียนสร้างด้วยไม้ยกพื้นสูงมี 3 มุข  เป็นรูปตัว E  ยาวถึง 254 เมตร (ไม่รวมมุขกลาง)  นับว่าเป็นอาคารเรียนไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

 

โรงเรียนลาดชะโดสามัคคี

         โรงเรียนลาดชะโดสามัคคี  เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา  ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 20  เมษายน  พ.ศ. 2519  มีพื้นที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา

  

เรือ "รุ่งเรืองรัศมี"

         เมื่อปี พ.ศ. 2440  บริษัทสุพรรณขนส่ง  ประกอบกิจการเดินเรือ  ซึ่งมีเรือโดยสารและขนส่งสินค้าป็นจำนวนมาก  ต่อมาภายหลังบริษัทฯ ได้เลิกกิจการเดินเรือ        

         พ.ศ. 2513  บริษัทสุพรรณขนส่ง  ได้ขายและเปิดประมูลเรือที่มีอยู่จำนวนประมาณ 200 ลำ  ณ บริเวณที่จะสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า  กรุงเทพมหานครในสมัยนั้น  นายสวัสดิ์  สุคันธจันทร์  ได้ประมูลเรือ “ขุนเพชร” มาซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์  และได้เปลี่ยนชื่อเรือเป็น “รุ่งเรืองรัศมี”  ใช้วิ่งรับ-ส่งสินค้าระหว่าง  อำเภอโพธิ์ทอง  อำเภอวิเศษชัยชาญ  อำเภอผักไห่  อำเภอเสนา  และ  ท่าเตียน  กรุงเทพมหานคร  เรือจะมาถึง อ.ผักไห่ช่วงใกล้ค่ำ  แล้วเดินทางไปถึงท่าเตียนในช่วงใกล้รุ่ง

         พ.ศ. 2519  นายสวัสดิ์  สุคันธจันทร์  ได้ขายเรือ “รุ่งเรืองรัศมี” ให้กับนายบั๊กเจ้าของร้านอาหารเรือนแพ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นายบั๊กได้ประกอบกิจการอยู่ 5 ปี  ก็ได้ขายเรือพร้อมกิจการทั้งหมดให้กับนายเมี่ยงฮุย  กนกอุดม  ประกอบกิจการสืบต่อไป  ทำให้นายเมืยงฮุย  กนกอุดม  สร้างฐานะทางครอบครัวได้อย่างเป็นปึกแผ่น 

         พ.ศ. 2548  นายเมี่ยงฮุย  กนกอุดม  ได้ขายเรือ “รุ่งเรืองรัศมี” ให้กับ  นางวันเพ็ญ  เกตุชีพ  นำไปปรับปรุงแล้วจอดอนุรักษ์ที่หน้าบ้าน  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  ณ อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         พ.ศ. 2549 ได้เกิดภัยน้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เรือ “รุ่งเรืองรัศมี” ถูกชนถึง 2 ครั้ง  ทำให้เรือเสียหายเป็นอย่างมาก  จมลงไปในแม่น้ำป่าสักครึ่งลำ  นางวันเพ็ญ  เกตุชีพ  จึงประสานไปยังวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา  เพื่อจะยกให้กับวิทยาลัยฯ นำไปดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุง  ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ภาคสนามของนักศึกษาต่อไป

         พ.ศ. 2552  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นายปรีชา  กมลบุตร  มีแนวคิดจะศึกษาประวัติเรือเขียว  เรือแดง  เพื่อการอนุรักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน  จึงได้เดินทางไปวิท ยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา  โดยประสานงานกับอาจารย์ทองพูน  กิ่งนาค และ อาจารย์วรเทพ  บุญยัง  อาจารย์ได้พาผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปดูเรือ “รุ่งเรืองรัศมี”  นางวันเพ็ญ  เกตุชีพ  จึงได้บริจาคเรือ “รุ่งเรืองรัศมี” ให้กับ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         หลังจากนั้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นายปรีชา  กมลบุตร  มีโครงการที่จะพัฒนาตลาดลาดชะโด  ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ดังนั้น  จึงได้มอบเรือ “รุ่งเรืองรัศมี” ให้กับทางเทศบาลตำบลลาดชะโด  อำเภอผักไห่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยมีนายอำเภอผักไห่  นายเรวัต  ประสงค์  เป็นผู้ประสานงาน  นายกเทศมนตรีตำบลลาดชะโด  นายเกรียงศักดิ์  พิมพันธ์ดี  เป็นผู้รับมอบ  ลากจูงมาซ่อมแซมให้มีสภาพเป็นเรือสองชั้นสมบูรณ์เหมือนเดิม  ชาวลาดชะโดจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อเรือเป็น "กมลบุตรรุ่งเรืองรัศมี" เพื่อเป็นเกียรติกับท่านผู้ว่าฯ ปรีชา  กมลบุตร  และปัจจุบันได้จอดอยู่ที่หน้าตลาดลาดชะโด

  

 หรีดผ้าชาวลาดชะโด

         ลาดชะโดเป็นแห่งแรกที่ได้นำผ้าขนหนู  มาใช้ศิลปะประดิษฐ์เป็นพวงหรีด  โดยขึ้นรูปบนกระดาษแข็งเป็นรูปแบบต่างๆ ตามที่ต้องการ  เริ่มขึ้นเมื่อปี 2530  ระยะนั้นพวงหรีดดอกไม้แห้งกำลังผลัดเปลี่ยนเป็นพวงหรีดดอกไม้สด  แต่ร้านหรือดอกไม้สดจะเปิดได้เฉพาะในตัวเมืองที่เจริญเท่านั้น  เพราะต้องจัดทำอยู่ในห้องเย็น  บ้านนอกไม่มีหรีดใช้  จึงเริ่มเลียนแบบหรีดจีน  ทำเป็นหรีดผ้าเต็ก  แต่หรีดผ้าเต็กของจีนมีความหมายลึกซึ้ง  ผู้รู้พอเห็นหรีดผ้าเต็กจีน  ก็จะรู้ว่าผู้ตายเป็นหญิงหรือชาย  เป็นคนอายุมากหรืออายุน้อย  จากตัวหนังสือที่ติดไว้บนเต็ก  แต่หรีดเต็กไทยไม่สามารถทำเลียนแบบได้  จึงนำผ้ามาวางบนแผ่นโฟม  แล้วเกลี่ยเป็นรูปดอกไม้  เย็บติดกับแผ่นโฟม  และได้พัฒนามาเรื่อยๆ

         หรีดผ้าชาวลาดชะโด  ได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ  แบบดอกไม้  มีแบบกุหลาบ  ดอกเหมย  ดอกทิวลิป  ดอกทานตะวัน  แบบรูปสัตว์  มีแบบนกหงส์  นกหางพวง  ห่านคู่  มังกร  พญานาค  ช้างม้า  หมู

         แบบสั่งทำโดยเฉพาะ  มีถุงรวงข้าวของ ธ.ก.ส.  ตะวันทอแสงของสุริยาหีบศพ  และอื่นๆ

         ประโยชน์ของหรีดผ้าชาวลาดชะโด  ทุกอย่างนำมาใช้ได้หมด  ไม่มีทิ้งเป็นขยะไว้ให้แก่ทางวัด

         หรีดผ้าชาวลาดชะโด  เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง  คือต้องทำขึ้นด้วยมือ ไม่สามารถทำด้วยเครื่องจักรได้  จึงช่วยให้ชาวบ้านลาดชะโดทำเป็นงานอดิเรก  มีรายได้พออยู่พอกิน

ปลาชะโด คลิก


 

(ladchado) 2009429_51928.jpg

วัดลาดชะโด

(ladchado) 2009429_51994.jpg

วัดจักราช

 (ladchado) 2009710_66524.jpg

ศาลเจ้า

 ปึงเถ่ากงม่าลาดชะโด (หลังเดิม)

(ladchado) 2009429_52019.jpg

ปึงเถ่ากงม่าลาดชะโด

(ladchado) 2009710_41744.jpg

ศาลเจ้า

 พ่อแก่-พ่อศรีไพร

(ladchado) 2009710_41831.jpg

ศาลารูปหล่อ

หลวงพ่ออิ่ม

(ladchado) 2009710_53792.jpg

ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

(ladchado) 2009430_64212.jpg

สำนักงานเทศบาล

ตำบลลาดชะโด

(ladchado) 2009710_53999.jpg

สวนสุขภาพ

 เฉลิมพระเกียรติ

ตลาดลาดชะโด

(ladchado) 200986_75268.jpg

สถานีตำรวจภูธร

จักราช (เดิม)

(ladchado) 2009710_54252.jpg

โรงเรียน

วัดลาดชะโด

(ladchado) 2009710_54279.jpg

โรงเรียน

ลาดชะโดสามัคคี

(ladchado) 2009710_66338.jpg

พิพิธภัณฑ์ประมง

(ladchado) 2009710_54433.jpg

พิพิธภัณฑ์ชาวนา

(ladchado) 2009710_54454.jpg

ปลาในท้องถิ่น

(ladchado) 2009710_66936.jpg

ห้องฉายภาพยนตร์

(ladchado) 2009710_54484.jpg

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองน้ำใหญ่

(ladchado) 2009710_54510.jpg

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจักราช

(ladchado) 2009102_55649.jpg

ไปรษณีย์ลาดชะโด

(ladchado) 2009710_66367.jpg

สะพาน ค.ส.ล.

(ladchado) 2009711_72891.jpg

(ladchado) 2009711_72852.jpg

(ladchado) 2009817_35068.jpg

(ladchado) 2009817_35654.jpg

(ladchado) 2009817_35698.jpg

 (ladchado) 2009425_41091.jpg

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 42,975 Today: 3 PageView/Month: 3

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...